|

หลักการพื้นฐานในการทำงาน

7
Sep

หลักการทำงาน EnT


แนวคิดของพันธกิจมหาวิทยาลัยเพื่อสังคม (University Engagement) เป็นจุดเปลี่ยน (transition) ของการทำงานกับสังคมของมหาวิทยาลัย ซึ่งเดิมดำเนินการอยู่ในรูปแบบของงานบริการวิชาการ (service) และงานอาสาสมัคร (volunteering) เป็นหลัก ไปสู่การทำงานร่วม (engagement) กับภาคีในพื้นที่ในลักษณะเชิงสถาบัน ที่เป็นหุ้นส่วนระยะยาว (long-term partnership) และหวังที่จะให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) อย่างแท้จริงของชุมชนหรือสังคมในพื้นที่ พันธกิจนี้จะเป็นการเชื่อมโยงระหว่างภารกิจหลักทุกภารกิจของมหาวิทยาลัย อาทิ การผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เข้าด้วยกันอย่างมียุทธศาสตร์และเป็นระบบ และส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งในระหว่างมหาวิทยาลัยด้วยกันเอง และระหว่างมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย

จากความสำคัญของพันธกิจมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมดังกล่าว หลายหน่วยงานจึงร่วมกันจัดตั้งสมาคมพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม ขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่กลางในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การทำงานวิชาการเพื่อสังคม การพัฒนาระบบบริหารจัดการ ตลอดจนเป็นจุดประสานความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยที่สนใจพันธกิจเพื่อสังคม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

การทำงานเชิงวิชาการร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับสังคมในพันธกิจหลักทุกด้านของมหาวิทยาลัย บนหลักการพื้นฐาน 4 ประการ ได้แก่

  • ร่วมคิดร่วมทำแบบพันธมิตรและหุ้นส่วน (partnership)
  • เกิดประโยชน์ร่วมกันแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย (mutual benefits)
  • เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และเกิดผลงานวิชาการ (knowledge sharing and scholarship)
  • เกิดผลกระทบต่อสังคมที่ประเมินได้ (measurable social impact)

โดยมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้

  • มหาวิทยาลัยรับรู้และยอมรับคุณค่า (values) วัฒนธรรม (culture) ความรู้และทักษะ (knowledge and skills) ของสังคม และทำงานที่เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายร่วมกัน
  • มหาวิทยาลัยต้องกำหนดเรื่องพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคมไว้ในระบบกำกับดูแล นโยบายและแผนการดำเนินการ งบประมาณ หลักสูตร รวมถึงวิถีชีวิตในมหาวิทยาลัย
  • ในการทำวิจัยร่วมกันนั้น ต้องร่วมกันพัฒนาโจทย์และวิธีการที่ครอบคลุมทั้งในเชิงวิชาการและประเด็นของสังคม
  • ในการบูรณาการกับการเรียนการสอนนั้น ต้องเชื่อมโยงกับเป้าหมายในการเรียนรู้ของนักศึกษา และต้องสอดคล้องกับความต้องการของสังคม
  • มหาวิทยาลัยและสังคมทำงานร่วมกันในการติดตามความร่วมมือ วัดผลกระทบ ประเมินผลลัพธ์ และปรับปรุง/พัฒนากิจกรรมที่ทำร่วมกัน
  • เป้าหมายสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้น และสร้าง engaged citizens ซึ่งรวมถึงนักศึกษา บัณฑิต และบุคลากรของมหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ สังคม หมายรวมถึง กลุ่มบุคคลที่อาจเชื่อมโยงกับชุมชนทั้งในมิติของพื้นที่ ความสนใจร่วมกัน อัตลักษณ์ สถานที่ทำงาน ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงกันทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ หรืออยู่ในภาคส่วนเดียวกัน ชุมชนนักปฏิบัติ ชุมชนที่มีความสนใจร่วมกัน โดยไม่มีข้อจำกัดทั้งในเชิงพื้นที่ ภูมิภาค และประเทศ รวมถึงภาคธุรกิจอุตสาหกรรม สมาคมวิชาชีพ โรงเรียน รัฐบาล ศิษย์เก่า และชุมชนพื้นเมือง เป็นต้น

ผลที่คาดหวังของ EnT

  • เกิดประโยชน์ทั้งแก่มหาวิทยาลัยและสังคม ทั้งในด้านการพัฒนาการเรียนการสอน การวิจัย การถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาคุณภาพบัณฑิต การพัฒนากำลังคน การสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
  • เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิชาการและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการทำงานร่วมกับชุมชน/สังคม เพื่อร่วมสร้างผลกระทบในเชิงบวกให้เกิดแก่สังคมอย่างเป็นระบบและมียุทธศาสตร์
  • เกิดระบบการบริหารจัดการแบบใหม่ในมหาวิทยาลัยที่มีการบูรณาการทรัพยากรทุกประเภทมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม
  • เกิดความเข้มแข็งและก้าวหน้าทางอาชีพแก่บุคลากรทุกประเภทของมหาวิทยาลัย เช่น ในการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการหรือชำนาญการ

สิทธิประโยชน์ของสมาชิกสมาคมพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม

  • ได้รวมพลังกับมหาวิทยาลัย ชุมชนและภาคีอื่นๆ ในการส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้าในพันธกิจมหาวิทยาลัยกับสังคมของประเทศไทย มีโอกาสสร้างและใช้ความรู้ตลอดจนผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อความเจริญก้าวหน้าของมหาวิทยาลัย ของสังคม และของประเทศชาติในภาพรวม
  • มีโอกาสในการพัฒนาความเข้มแข็งของระบบการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยด้านการทำงานเพื่อสังคม ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ เพิ่มคุณค่าแก่มหาวิทยาลัยและสังคม
  • มหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่นด้านการทำงานเพื่อสังคม และสร้างผลกระทบที่ดีต่อสังคม มีโอกาสสูงในการได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศรวมทั้งการพัฒนาความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ อย่างต่อเนื่อง
  • บุคคลากรของมหาวิทยาลัยมีโอกาสก้าวหน้าในการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการด้านมหาวิทยาลัยรับใช้สังคม และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ
  • สมาชิก EnT สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึก ทั้งในระดับนโยบาย การให้ทุน และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง